หลักเกณฑ์ในการจำนอง

หลักเกณฑ์ในการจำนอง

1. ผู้จำนองต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในทรัพย์ที่จะจำนอง
2. สัญญาจำนอง ต้องทำเป็นหนังสือและนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิฉะนั้นสัญญาจำนองตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันแก่คู่สัญญาแต่อย่างใด ในการกู้ยืมเงินนั้นมีอยู่เสมอ ที่ผู้กู้ได้นำเอาโฉนดที่ดินของตนไปมอบให้แก่ผู้ให้กู้เก็บรักษาไว้เฉย ๆ เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ โดยไม่มีการทำเป็นหนังสือและไม่ได้นำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่การจำนอง ผู้ให้กู้หาได้มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินตามโฉนดแต่อย่างใด คงได้แต่เพียงกระดาษโฉนดไว้ในครอบครองเท่านั้น ดังนั้น ถ้าผู้ให้กู้ประสงค์ที่จะให้เป็นการจำนองตามกฎหมายแล้ว จะต้องทำเป็นหนังสือและนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
3. ต้องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจรับจดทะเบียนจำนองตาม

กฎหมาย กล่าวคือ
ก. ที่ดินที่มีโฉนดต้องนำไปจดทะเบียนที่กรมที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินกรุงเทพฯ (สาขา) หรือสำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัด (สาขา) ซึ่งที่ดินนั้นต้องอยู่ในเขตอำนาจ
ข. ที่ดินที่ไม่มีโฉนด ได้แก่ที่ดิน น.ส. 3 ต้องไปจดทะเบียนที่อำเภอ ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ในเขตอำนาจ
ค. การจำนองเฉพาะบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างไม่รวมที่ดินต้องไปจดทะเบียนจำนองที่อำเภอ
ง. การจำนองสัตว์พาหนะ หรือแพ ต้องไปจดทะเบียนที่อำเภอ
จ. การจำนองเรือต้องไปจดทะเบียนจำนองที่กรมเจ้าท่า
ฉ. การจดทะเบียนเครื่องจักรต้องไปจดทะเบียนที่กระทรวงอุตสาหกรรม

ผลของสัญญาจำนอง
ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ โดยไม่ต้องคำนึงว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ก็ตาม

ตัวอย่าง นายเอกได้กู้เงินจากนายโทเป็นเงิน 1 แสนบาท โดยนำที่ดินของตนไปจดทะเบียนจำนองไว้กับนายโท และต่อมานายเอกได้กู้เงินจากนายตรีอีก 1 แสนบาท โดยไม่ได้มีการนำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองแต่อย่างใด ดังนี้ นายโทมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากที่ดินดังกล่าวได้ก่อน นายตรี และแม้ว่านายเอกจะได้โอนกรรมสิทธิที่ดินแปลงนั้นไปให้บุคคลภายนอกแล้วก็ตามนายโทคงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากที่ดินแปลงดังกล่าวได้ก่อนเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ได้ไปจดทะเบียนจำนองในที่ดินแปลงดังกล่าว

นอกจากนี้ผู้รับจำนองยังมีสิทธิที่จะเรียกเอาทรัพย์สินที่จำนองนั้นหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้หากเข้าเงื่อนไข ดังนี้คือ
(1) ลูกหนี้ได้ขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้วเป็นเวลาถึงห้าปี
(2) ผู้จำนองมิได้แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินนั้นท่วมจำนวนเงินอันค้างชำระ 
(3) ไม่มีการจำนองรายอื่น หรือบุริมสิทธิอื่นได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินอันเดียวกัน

ตัวอย่าง นายเอกได้กู้เงินจากนายโทเป็นจำนวนเงิน 1 ล้านบาทโดยนำที่ดินราคา 1 ล้านบาทเช่นกันไปจดทะเบียนจำนองไว้เป็นประกันการชำระหนี้ของตน โดยตกลงค่าดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต่อมาอีก 10 ปี นายเอกผิดนัดไม่เคยชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยให้แก่นายโทเลย ดังนั้นเมื่อรวมยอดหนี้คือเงินต้น 1 ล้านบาท กับดอกเบี้ยอีก 1 ล้านห้าแสนบาทแล้วจะเป็นเงิน 2 ล้านห้าแสนบาท นายโทมีสิทธิฟ้องนายเอกต่อศาล ขอให้ศาลสั่งให้นายเอกโอนกรรมสิทธิในที่ดินดังกล่าวให้มาเป็นของนายโทได้เลย โดยไม่ต้องมีการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด

ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ หรือ ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองหลุดเป็นของผู้รับจำนองและราคาทรัพย์นั้นมีราคาต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ ทั้งสองกรณีนี้ เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบจำนวนในเงินที่ยังขาดอยู่นั้น

ตัวอย่าง นายเอกนำที่ดินไปจำนองนายโทเป็นเงิน 1 ล้านบาท ต่อมาเมื่อเจ้าหนี้บังคับจำนองเอาที่ดินออกขายทอดตลาดได้เงินเพียง 5 แสนบาท ดังนี้นายโทจะไปบังคับให้นายเอกชดใช้เงินจำนวนที่ยังขาดอยู่อีก 5 แสนบาทไม่ได้ข้อยกเว้น แต่ถ้าในสัญญาจำนองได้ตกลงกันไว้ว่า ในกรณีที่มีการบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระยอดหนี้ เงินที่ยังขาดจำนวนนี้ลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดชดใช้ให้แก่ผู้รับจำนองจนครบถ้วนข้อตกลงเช่นนี้มีผลบังคับได้ไม่ถือว่าเป็นการผิดกฎหมาย ผู้รับจำนองมีสิทธิที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ส่วนที่ยังขาดจำนวนอยู่ดังกล่าวได้อีกจนครบถ้วน

ตัวอย่าง นายเอกนำที่ดินไปจำนองนายโท 1 ล้านบาท โดยตกลงกันว่าหากนายโทบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่ครบ 1 ล้านบาท นายเอกยินยอมชดใช้เงินที่ยังขาดจำนวนอยู่นั้นคืนให้แก่ผู้รับจำนองจนครบถ้วน ต่อมานายโทบังคับจำนองนำที่ดินออกขายทอดตลาดได้เงินเพียง 5 แสนบาท เงินที่ยังขาดอีก 5 แสนบาทนี้ นายโทมีสิทธิบังคับให้นายเอกชำระคืนให้แก่ตนจนครบถ้วนได้

ในกรณีที่มีการบังคับจำนอง เมื่อนำที่ดินออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิเท่าใดแล้วก็ให้นำเงินดังกล่าวชำระหนี้คืนให้แก่ผู้รับจำนอง หากมีเงินเหลืออยู่เท่าใดก็ให้ส่งมอบคืนให้แก่ผู้จำนองผู้รับจำนองจะเก็บไว้เสียเองไม่ได้

ตัวอย่าง นายเอกจำนองที่ดินไว้กับนายโทเป็นเงิน 1 ล้านบาท ต่อมาเมื่อนายโท บังคับจำนองได้เงินจากการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 2 ล้านบาท นายโทก็หักเงินที่เป็นหนี้ตนอยู่ 1 ล้านบาท ส่วนเงินที่ยังเหลืออยู่อีก 1 ล้านบาทนั้น นายโทต้องคืนนายเอกไป

ขอบเขตของสิทธิจำนอง
ผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับจำนองได้เฉพาะทรัพย์ที่จดทะเบียนจำนองเท่านั้น จะไปบังคับถึงทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนจำนองไม่ได้ เช่น จำนองเฉพาะที่ดินย่อมไม่ครอบถึงโรงเรือนหรือบ้านที่ปลูกภายหลังวันจำนองเว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้าว่าให้รวมถึงบ้านและโรงเรือนดังกล่าวด้วย

- จำนองเฉพาะบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินของคนอื่น ก็มีสิทธิเฉพาะบ้านเท่านั้น
- จำนองย่อมไม่ครอบคลุมถึงดอกผลแห่งทรัพย์สินซึ่งจำนอง เช่น จำนองสวนผลไม้ดอกผลที่ได้จากสวนผลไม้ยังคงเป็นกรรมสิทธิของผู้จำนองอยู่

ทรัพย์สินซึ่งจำนองอยู่นี้ ย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ดังต่อไปนี้คือ
1. เงินต้น
2. ดอกเบี้ย
3. ค่าเสียหายในการไม่ชำระหนี้ เช่นค่าทนายความ
4. ค่าธรรมเนียมในการบังคับจำนอง

วิธีบังคับจำนอง
ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้คืนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ผู้รับจำนองจะใช้สิทธิบังคับจำนอง หากถึงกำหนดนัดแล้วลูกหนี้ไม่นำเงินมาชำระผู้รับจำนองต้องฟ้องผู้จำนองต่อศาล เพื่อให้ลูกหนี้ปฏิบัติการชำระหนี้ หากไม่ชำระหนี้ก็ขอให้ศาลสั่งให้นำเอาทรัพย์ที่จำนองนั้นออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ของตนหรือขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์ที่จำนองนั้นหลุดเป็นกรรมสิทธิของตนหากเข้าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้

จะเห็นได้ว่ากฎหมายบังคับไว้โดยเด็ดขาดว่าการบังคับจำนองจะต้องฟ้องคดีต่อศาลเสมอจะนำเอาที่ดินออกขายทอดตลาดเองไม่ได้ และต้องมีการออกจดหมายทวงหนี้ไปถึงลูกหนี้ก่อนเสมอจะฟ้องคดีโดยไม่มีการบอกกล่าวทวงถามก่อนไม่ได้

การบังคับจำนองนี้จะไม่คำนึงเลยว่าในขณะที่มีการบังคับจำนองนั้น ทรัพย์สินที่จำเลยอยู่ในความครอบครองของใคร หรือลูกหนี้ได้โอนกรรมสิทธิไปยังผู้อื่นกี่ทอดแล้วก็ตามสิทธิจำนองย่อมติดตามตัวทรัพย์สินที่จำนองไปด้วยเสมอ แม้ว่าจะเป็นการโอนทางมรดกก็ตามสิทธิจำนองก็ติดตามไปด้วย

ตัวอย่าง นายเอกจำนองที่ดินแปลงหนึ่งไว้กับนายโท เป็นเงิน 1 ล้านบาท ต่อมานายเอกตายโดยยกมรดกที่ดินดังกล่าวไปให้นายจู๋ลูกชายของตน การตายของนายเอกหาได้ทำให้สิทธิของนายโทหมดไปไม่ นายโทมีสิทธิบังคับจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวได้แม้ว่าจะเป็นชื่อของนายจู๋แล้วก็ตาม

หนี้ที่ขาดอายุความไปแล้วจะมีผลกระทบถึงการจำนองหรือไม่

แม้ว่าหนี้ที่เป็นประกันนั้นจะขาดอายุความแล้วก็ตาม ผู้รับจำนองก็ยังมีสิทธิที่จะบังคับจำนองเอาทรัพย์สินที่จำนองได้ ดังนั้น จึงไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของผู้รับจำนองในทรัพย์สินที่จำนองแต่อย่างใด แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปีไม่ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 745)

ตัวอย่าง นายเอกนำที่ดินไปจำนองไว้กับนายโทเป็นเงิน 1 ล้านบาทกำหนดชำระคืนในวันที่ 1 มกราคม 2510 เมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว นายโทก็มิได้ติดตามทวงถามจากนายเอกเลยจนถึงวันที่ 1 มกราคม 2527 จึงได้บังคับจำนองซึ่งหนี้เงินกู้นั้นต้องฟ้องภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ถึงกำหนดซึ่งกรณีหนี้เงินกู้ขาดอายุความไปเป็นเวลานานแล้วนายเอกจะต่อสู้ว่าหนี้เงินกู้ได้ขาดอายุความไปแล้วดังนั้นตนจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองไม่ได้ เพราะแม้ว่าหนี้เงินกู้จะขาดอายุความก็ตามแต่สิทธิจำนองยังอยู่หาได้หมดไปตามอายุความไม่ นายโทจึงมีสิทธิบังคับจำนองที่ดินดังกล่าวได้ แต่นายโทจะบังคับในส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปีไม่ได้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการจำนองเป็นหลักประกันการชำระหนี้อย่างแท้จริง ดังนั้นหากเจ้าหนี้ประสงค์ที่จะได้รับชำระหนี้คืนแล้ว เจ้าหนี้จึงควรให้ลูกหนี้นำทรัพย์สินมาจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ด้วย

การชำระหนี้จำนอง
การชำระหนี้จำนองทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ดี การระงับหนี้จำนองไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็ดีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อตกลงในการจำนองก็ดี กฎหมายบังคับให้ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิฉะนั้น แล้วจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกไม่ได้

ตัวอย่าง นายเอกจำนองที่ดินของตนไว้กับนายโท ต่อมานายโทยอมปลดจำนองที่ดินดังกล่าวให้แก่นายเอกแต่ทั้งสองฝ่ายมิได้ไปจดทะเบียนการปลดจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมานายโทโอนการจำนองให้นายจัตวาโดยจดทะเบียนถูกต้อง แล้วนายจัตวาได้บังคับจำนองที่ดินแปลงนี้ นายเอกจะยกข้อต่อสู้ว่านายโทปลดจำนองให้แก่ตนแล้วขึ้นต่อสู้กับนายจัตวาไม่ได้